หน่วยที่ 4 กฎหมายหลักที่ใช้ปกครองประเทศ

กฎหมายรัฐธรรมนูญ

ประเทศไทยแต่เดิมนั้น อำนาจในการปกครองแผ่นดินเป็นสิทธิขาดของพระมหากษัตริย์แต่พระองค์เดียว หรือที่เรียกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้มีกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “คณะราษฎร” ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมารัฐธรรมนูญกลายเป็นหลักสำคัญในการปกครองประเทศ แม้จะมีการยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายครั้งตามสภาวะการณ์ของบ้านเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 ของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน


ลักษณะทั่วไปของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศและถือเป็นแม่บทของกฎหมายต่างๆ ถ้ากฎหมาย ใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญกฎหมายนั้นจะใช้บังคับไม่ได้เมื่อกล่าวถึงรัฐธรรมนูญจะเกี่ยวข้องกับเรื่องรูปแบบการปกครอง ประมุขของประเทศ อำนาจอธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดรูปแบบให้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช้เป็นสหพันธรัฐ สาธารณรัฐ หรือสมาพันธรัฐให้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดของรัฐแบ่งเป็น 3 ส่วนคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ อำนาจอธิปไตยดังกล่าวเป็นของปวงชนชาวไทย โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาล นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเสมอภาคกัน





หลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540



หลักการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ
1. ให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ตลอดจนเพิ่มสิทธิและเสรีภาพใหม่ ให้แก่ประชาชน

2. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเสนอกฎหมายได้

3. ปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ และสร้างองค์กรเพื่อควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจ



สิทธิและเสรีภาพและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ


สิทธิ (Right) หมายถึง ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้

เสรีภาพ (Liberty) หมายถึง ความมีอิสระที่จะกระทำหรืองดเว้นกระทำการ ถ้าเสรีภาพใดมีกฎหมายรองรับ เสรีภาพก็อาจกลายเป็นสิทธิได้ จึงมักเรียกรวม ๆ กันว่า สิทธิและเสรีภาพ

หน้าที่ (Obligation) หมายถึง สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้กระทำหรืองดเว้นกระทำ เมื่อมีสิทธิแล้วจะมีหน้าที่ควบคู่ไปด้วยเสมอ





สิทธิและเสรีภาพของพลเมืองไทย


1. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น ห้ามทรมาน ทารุนกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีโหดร้าย หรือไร้มนุษยธรรม

2. สิทธิในครอบครัวและความเป็นอยู่ส่วนตัว รัฐธรรมนูญห้ามกล่าวหรือเผยแพร่ข้อความ หรือภาพไปสู่สาธารชน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัว เช่น แอบถ่ายภาพผู้อื่นขณะอยู่ในบ้านแล้วนำไปพิมพ์จำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต

3. เสรีภาพในเคหสถาน บ้านเป็นสถานที่อยู่อาศัยสามารถอยู่อย่างสงบสุข ปราศจากสิ่งใด ๆ มารบกวน แม้แต่อำนาจของรัฐ ผู้อื่นจะเข้าไปภายในบ้านโดยผู้อาศัยในบ้านไม่ยินยอมไม่ได้

4. เสรีภาพในการเดินทาง และเลือกถิ่นที่อยู่ ประชาชนมีสิทธิเดินทางไปที่ใด หรือตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรก็ได้ และจะเนรเทศผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ได้ อย่างไรก็ดีอาจออกกฎหมายเฉพาะจำกัดเสรีภาพนี้

5. เสรีภาพในการสื่อสาร รัฐธรรมนูญคุ้มครองการติดต่อสื่อสารถึงกันโดยที่คนอื่นไม่อาจล่วงรู้ข้อความได้ ดังนั้นจึงห้ามตรวจ กัก เปิดเผยสิ่งสื่อสารที่มีผู้ติดต่อถึงกันหรือทำวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้รู้ข้อความ เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐจะอ่านจดหมายที่ประชาชนส่งถึงกันหรือดักฟังโทรศัพท์ไม่ได้ เว้นแต่มีกฎหมายเฉพาะอนุญาตให้ทำได้

6. เสรีภาพในการถือศาสนา พลเมืองไทยมีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ แม้เป็นเพียงนิกาย หรือลัทธินิยมในทางศาสนา

7. สิทธิในการไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน รัฐธรรมนูญห้ามเกณฑ์แรงงานประชาชนไปขุดคลองหรือก่อสร้าง เว้นแต่มีกฎหมายเฉพาะให้อำนาจไว้ เช่น ป้องกันภัยพิบัติสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างฉุกเฉิน หรือประเทศอยู่ในภาวะสงคราม

8. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าโดยการพูด หรือการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

9. เสรีภาพในทางวิชาการ รัฐธรรมนูญส่งเสริมทางทำงานวิชาการโดยคุ้มครองการศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย หรือการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองดีหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

10. เสรีภาพในการชุมชน การชุมนุมที่กระทำได้ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ

11. เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม ประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันได้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการเช่น รวมตัวกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ กลุ่มเกษตรกร องค์กรเอกชนหรือหมู่คณะอื่น ๆ

12. เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง การรวมกลุ่มของประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกัน อาจออกมาในรูปของการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันและดำเนินกิจการทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น

13. สิทธิต่อต้านการยึดอำนาจ การธำรงรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย อาจต้องใช้วิธีต่อต้านการยึดอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ เช่น การใช้กำลังปฏิวัติรัฐประหาร รัฐธรรมนูญกำหนดว่าการต่อต้านต้องทำโดยสันติวิธี

14. สิทธิในทรัพย์สิน มนุษย์จำเป็นต้องหาทรัพย์สินเงินทอง และเก็บไว้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตน หากทรัพย์ที่อุตส่าห์หามาได้ด้วยความเหนื่อยยาก ต้องถูกผู้อื่นฉกฉวยเอาไป ย่อมไม่เป็นธรรมต่อเขา รัฐธรรมนูญจึงคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน และการตกทอดของทรัพย์สินไปยังทายาท

15. เสรีภาพในการประกอบอาชีพ บุคคลสามารถประกอบกิจการ หรือประกอบอาชีพใดก็ได้โดยมีกติกาคือให้แข่งขันกันโดยเสรีและเป็นธรรม เสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดหากมีกฎหมายเฉพาะให้ทำได้ เช่น ไปประกอบอาชีพที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศเป็นต้น

16. สิทธิในการได้รับการศึกษา ประชาชนมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี รัฐบาลต้องจัดให้มีโรงเรียนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เรียน นอกจากนี้การจัดการศึกษาต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเอกชนมีส่วนร่วมด้วย

17. สิทธิที่จะได้รับบริการทางสาธารณสุข ประชาชนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน การบริการสาธารณสุขของรัฐต้องทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้คนยากจนมีสิทธิได้รับบริการรักษาพยาบาลจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

18. สิทธิในการมีส่วนร่วมคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้ผลจำต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน รัฐธรรมนูญให้โอกาสประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการบำรุงรักษา และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

19. สิทธิในฐานะเป็นผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนได้บริโภค หรือใช้สินค้าที่ปลอดภัยมีคุณภาพ และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้า รัฐธรรมนูญจึงคุ้มครองประชาชนในฐานะผู้บริโภค รวมทั้งให้สร้างองค์กรอิสระที่เป็นตัวแทนผู้บริโภค

20. สิทธิในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร การที่ประชาชนจะติดตาม ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างได้ผลนั้นประชาชนต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยต่อสารธรณชนและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้

21. สิทธิเกี่ยวกับการกระทำทางการปกครอง ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การออกคำสั่งหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจกระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้บุคคลนั้นมีสิทธิ มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีการปฏิบัติราชการทางปกครอง มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ๆ





สิทธิและเสรีภาพสำหรับบุคคลบางจำพวก



นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองไทยทุกคนแล้ว รัฐธรรมนูญยังคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคนบางจำพวก ดังต่อไปนี้

1. สื่อมวลชน

รัฐธรรมนูญป้องกันการริดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อสารมวลชน จึงห้ามสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ และห้ามการเซ็นเซอร์ข่าว หรือการส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจข่าวก่อนเผยแพร่เว้นแต่กระทำในระหว่างประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบและต้องอาศัยอำนาจของกฎหมาย

พนักงานหรือลูกจ้างในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ทั้งภาครัฐและเอกชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น โดยไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของหน่วยงานภาครัฐหรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดกับจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญถือว่า “คลื่นความถี่” ที่ใช้ในการส่งวิทยุ โทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะจึงกำหนดให้มีองค์กรอิสระในการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์โทรคมนาคม



2. เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว

รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว ให้พ้นจากการใช้ความรุนแรง และการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม เช่น การที่สามีใช้กำลังทุบทำร้ายภรรยาและบุตร หรือบิดามารดาล่ามโซ่บุตรที่วิกลจริต

สำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาจากรัฐ



3. บุคคลสูงอายุ

บุคคลซึ่งอายุเกิน 60 ปี บริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ


4. ผู้พิการ

คนพิการ หรือทุพพลภาพ ถือเป็นผู้ด้อยโอกาสรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ

5. เจ้าหน้าที่ของรัฐ

ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การของรัฐ มีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ถูกจำกัดโดยกฎหมายเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจรรยาบรรณ

6. บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีอาญา

บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีอาญามีทั้งผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย ผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวฟ้องศาลแล้ว พยานที่ไปให้การต่อศาลและถูกคุมขัง





หน้าที่ของปวงชนชาวไทย



1. หน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบบประชาธิปไตย

2. หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย

3. หน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

กรณีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่ได้แจ้งเหตุอันควร หรือแจ้งแต่ไม่ใช้เหตุอันควร

จะเสียสิทธิ 8 ประการ

3.1 สิทธิยื่นร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น

3.2 สิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

3.3 สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น

3.4 สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

3.5 สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย

3.6 สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น

3.7 สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคล

3.8 สิทธิเข้าชื่อร้องให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

4. หน้าที่ป้องกันประเทศ

5. หน้าที่รับราชการทหาร

6. หน้าที่เสียภาษีอากร

7. หน้าที่ช่วยเหลือราชการ

8. หน้าที่รับการศึกษาอบรม

9. หน้าที่พิทักษ์ปกป้องและสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น

10. หน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2534
เป็นปีที่ 46 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและ ยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ แผ่นดิน พ.ศ.2534"
มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจา นุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.2534/156/1 พ./4 กันยายน 2534]

มาตรา 3 ให้ยกเลิก (1) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (2) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 310 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 (3) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2517 (4) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2517 (5) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2517 (6) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2519 (7) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 22 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 (8) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2522 (9) ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 48 เรื่อง แก้ไข เพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
มาตรา 4 ให้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้
(1) ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
(2) ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
(3) ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
มาตรา 5 การแบ่งราชการออกเป็นส่วนต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราช บัญญัตินี้ ให้กำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนโดยคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณงานของ ส่วนราชการนั้น ๆ ไว้ด้วย
การบรรจุและการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย
มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ส่วนที่ 1
การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
__________

มาตรา 7 ให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ดังนี้ (1) สำนักนายกรัฐมนตรี (2) กระทรวง หรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง (3) ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง (4) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง สำนักนายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นกระทรวง ส่วนราชการตาม (1) (2) (3) และ (4) มีฐานะเป็นนิติบุคคล

มาตรา 8* การจัดตั้ง การรวม หรือการโอนส่วนราชการตามมาตรา 7 ให้ตราเป็น พระราชบัญญัติ
การจัดตั้งทบวงโดยให้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง ให้ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติด้วย
การจัดตั้งกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งไม่สังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ให้ระบุการไม่สังกัดไว้ในพระราชบัญญัติด้วย
*[มาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543]
มาตรา 8 ทวิ* การรวมหรือการโอนส่วนราชการตามมาตรา 7 ไม่ว่าจะมีผล เป็นการจัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่หรือไม่ ถ้าไม่มีการกำหนดตำแหน่งหรืออัตราของข้าราชการ หรือลูกจ้างเพิ่มขึ้นให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้ระบุอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ การโอน อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งส่วนราชการหรือเจ้าพนักงานที่มีอยู่เดิม การโอน ข้าราชการและลูกจ้าง งบประมาณรายจ่าย รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินเอาไว้ด้วย แล้วแต่กรณี

ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและสำนักงบประมาณมีหน้าที่ ตรวจสอบดูแลมิให้มีการกำหนดตำแหน่งหรืออัตราของข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ หรือที่ถูกรวมหรือโอนไปตามวรรคหนึ่ง เพิ่มขึ้นจนกว่าจะครบกำหนดสามปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งมีผลใช้บังคับ
*[มาตรา 8 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติ ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543]
มาตรา 8 ตรี* การเปลี่ยนชื่อส่วนราชการตามมาตรา 7 ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่ชื่อตำแหน่งของข้าราชการในส่วนราชการนั้นเปลี่ยนไปให้ระบุการเปลี่ยนชื่อไว้ใน พระราชกฤษฎีกาด้วย
บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นอื่น ประกาศ หรือคำสั่งใดที่อ้างถึงส่วนราชการหรือตำแหน่งของข้าราชการที่ได้ถูกเปลี่ยนชื่อตาม วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติ ท้องถิ่นอื่น ประกาศหรือคำสั่งนั้นอ้างถึงส่วนราชการหรือตำแหน่งของข้าราชการที่ได้เปลี่ยนชื่อนั้น
*[มาตรา 8 ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติ ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543]
มาตรา 8 จัตวา* การยุบส่วนราชการตามมาตรา 7 ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบส่วนราชการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้งบประมาณรายจ่าย ที่เหลืออยู่ของส่วนราชการนั้นเป็นอันระงับไป สำหรับทรัพย์สินอื่นของส่วนราชการนั้นให้โอน ให้แก่ส่วนราชการอื่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามที่รัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราช กฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี สำหรับวิธีการจัดการกิจการ สิทธิและหนี้สินของส่วนราชการนั้นให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ข้าราชการหรือลูกจ้างซึ่งต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุยุบตำแหน่ง อันเนื่องมา แต่การยุบส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายหรือ ระเบียบข้อบังคับอื่นแล้ว ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างได้รับเงินชดเชยตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งด้วย
ในกรณีที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐประสงค์จะรับโอน ข้าราชการหรือลูกจ้างตามวรรคสามก็ให้กระทำได้โดยมิให้ถือว่าข้าราชการหรือลูกจ้างผู้นั้น ได้พ้นจากราชการตามวรรคสาม แต่ทั้งนี้ต้องกระทำภายในสามสิบวันนับแต่พระราชกฤษฎีกา ตามวรรคหนึ่งมีผลใช้บังคับ
*[มาตรา 8 จัตวา เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติ ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543]

มาตรา 8 เบญจ* พระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 8 ทวิ หรือมาตรา 8 จัตวา ที่มีผล เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จัดตั้งส่วนราชการ กฎหมายว่าด้วย การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 230 วรรคห้า ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ระบุให้ชัดเจนในพระราชกฤษฎีกาว่าบทบัญญัติใดถูก แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกเป็นประการใดในกฎหมายนั้น *[มาตรา 8 เบญจ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติ ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543]
มาตรา 8 ฉ* การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี กรม หรือ ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ให้ออกเป็นกฎกระทรวงและให้ระบุอำนาจ หน้าที่ของแต่ละส่วนราชการไว้ในกฎกระทรวงด้วย
ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดของส่วนราชการตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ออกกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการดังกล่าว กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
*[มาตรา 8 ฉ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติ ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543]
มาตรา 8 สัตต* ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและสำนักงบประมาณ ร่วมกันเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการแบ่งส่วนราชการภายในและในการกำหนดอำนาจ หน้าที่ของแต่ละส่วนราชการตามมาตรา 8 ฉ ในการเสนอความเห็นดังกล่าวให้สำนักงาน คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจัดอัตรากำลัง และสำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณ ให้สอดคล้องเสนอไปในคราวเดียวกัน
*[มาตรา 8 สัตต เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติ ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543]
มาตรา 8 อัฏฐ* การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันในทบวง มหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันนั้น
*[มาตรา 8 อัฏฐ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติ ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543]

หมวด 1
การจัดระเบียบราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี
__________

มาตรา 9 การจัดระเบียบราชการในสำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ให้ส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรีบรรดาที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วย การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม มีฐานะเป็นกรม สำนักนายกรัฐมนตรีอาจจัดให้มีส่วนราชการเป็นการภายในขึ้นตรงต่อนายก รัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่จัดทำนโยบายและแผน กำกับ เร่งรัด และติดตามนโยบายและแผนการ ปฏิบัติราชการตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ เพื่อการนี้นายกรัฐมนตรีจะสั่ง ให้กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำ ก็ได้

มาตรา 10 สำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วย การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม
สำนักนายกรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนด นโยบายของสำนักนายกรัฐมนตรีให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ และ รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักนายกรัฐมนตรีและจะให้มีรองนายกรัฐมนตรีหรือ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือมีทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายก รัฐมนตรี เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้
ในกรณีที่มีรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีหรือ มีทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี การสั่งและการปฏิบัติราชการ ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี มอบหมาย
ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะตั้ง คณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ เพราะนายกรัฐมนตรีตาย ขาดคุณสมบัติ หรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายก รัฐมนตรี ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะ รัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน

มาตรา 11 นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ (1) กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อการนี้จะสั่งให้ราชการ ส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติ ราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น (2) มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวง หรือ ทบวงหนึ่งหรือหลายกระทรวงหรือทบวง (3) บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม (4) สั่งให้ข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งมาปฏิบัติราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ให้ ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในสำนักนายกรัฐมนตรีในระดับ และขั้น ที่ไม่สูงกว่าเดิม (5) แต่งตั้งข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งไปดำรงตำแหน่งของ อีกกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนจากกระทรวง ทบวง กรมเดิม ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งมีฐานะเสมือนเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตนมา ดำรงตำแหน่งนั้นทุกประการ แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่า ขึ้นไป ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (6) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษาของ นายกรัฐมนตรี หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ และกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือ ค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง (7) แต่งตั้งข้าราชการการเมืองให้ปฏิบัติราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี (8) วางระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น (9) ดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบตาม (8) เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา 12 ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่เรียกชื่อ อย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม แต่มิได้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือทบวง นายกรัฐมนตรีจะ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทน ก็ได้
มาตรา 13 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการ ทางการเมือง มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการ ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีและให้มีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองและ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการและจะให้มีผู้ช่วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้
ให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นข้าราชการการเมือง และให้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร และผู้ช่วยเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
มาตรา 14 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และราชการในพระองค์ มีเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชา ข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และให้มีรองเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ และจะให้มีผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็น ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้
ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้ช่วยเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
มาตรา 15* ให้ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนัก งบประมาณ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน

คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก สำนักงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายก รัฐมนตรี
ให้ผู้อำนวยการและเลขาธิการ รองผู้อำนวยการและรองเลขาธิการ และผู้ช่วย ผู้อำนวยการและผู้ช่วยเลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
*[มาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2536]
มาตรา 16 สำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากมีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) รับผิดชอบควบคุมราชการประจำในสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดแนวทางและ แผนการปฏิบัติราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี และลำดับความสำคัญของแผนการปฏิบัติราชการ ประจำปีของส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นไปตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีกำหนด รวมทั้งกำกับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสำนักนายก รัฐมนตรี
(2) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี รองจาก นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยกเว้นข้าราชการของ ส่วนราชการซึ่งหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
(3) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและ รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ในการปฏิบัติราชการของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้มีรองปลัด สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ และจะให้มีผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้
ในกรณีที่มีรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือ มีทั้งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้รองปลัดสำนักนายก รัฐมนตรีหรือผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการ ปฏิบัติราชการรองจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ช่วยปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และให้รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานปลัดสำนักนายก รัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ตามที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดหรือมอบหมาย
มาตรา 17 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการ ประจำทั่วไปของสำนักนายกรัฐมนตรี และราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กรมใดกรมหนึ่งในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ รวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ของส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามนโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติ ราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี ยกเว้นราชการของส่วนราชการซึ่งกฎหมายกำหนดให้หัวหน้า ส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ในกรณีที่สำนักนายกรัฐมนตรีมีทบวงอยู่ในสังกัดและยังไม่สมควรจัดตั้ง สำนักงานปลัดทบวงตามมาตรา 25 วรรคสาม จะให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ สำนักงานปลัดทบวงด้วยก็ได้
หมวด 2
การจัดระเบียบราชการในกระทรวงหรือทบวง
_________

มาตรา 18 ให้จัดระเบียบราชการของกระทรวง ดังนี้
(1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น เว้นแต่บางกระทรวงเห็นว่าไม่มี ความจำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกรมก็ได้
ให้ส่วนราชการตาม (2) และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นตาม (3) มีฐานะเป็น กรม
กระทรวงใดมีความจำเป็นจะต้องมีส่วนราชการเพื่อทำหน้าที่จัดทำนโยบายและ แผน กำกับ เร่งรัด และติดตามนโยบายและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง จะจัดระเบียบ บริหารราชการโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีสำนักนโยบายและแผนเป็นส่วนราชการภายใน ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงก็ได้

มาตรา 19 การจัดระเบียบราชการในกระทรวงหนึ่ง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ส่วนการจัดระเบียบราชการในกระทรวงที่เกี่ยวกับการ ทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น กระทรวงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม
มาตรา 20 ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 11 กระทรวงหนึ่งมีรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และกำหนดนโยบายของกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบาย ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวง และจะให้มี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้
ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง การสั่งหรือการปฏิบัติราชการของ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมอบหมาย
ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่เรียกชื่อ อย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรมแต่มิได้สังกัดกระทรวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงจะมอบหมายให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงปฏิบัติราชการแทนก็ได้
มาตรา 21 กระทรวง นอกจากมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและรัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวง ให้มีปลัดกระทรวงคนหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) รับผิดชอบควบคุมราชการประจำในกระทรวง กำหนดแนวทางและแผน การปฏิบัติราชการของกระทรวง และลำดับความสำคัญของแผนการปฏิบัติราชการประจำปีของ ส่วนราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐมนตรีกำหนด รวมทั้งกำกับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวง
(2) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกระทรวงรองจากรัฐมนตรี
(3) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวง และรับผิดชอบ ในการปฏิบัติราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง

ในการปฏิบัติราชการของปลัดกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้มีรองปลัดกระทรวง เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ และจะให้มีผู้ช่วยปลัดกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ ด้วยก็ได้
ในกรณีที่มีรองปลัดกระทรวงหรือผู้ช่วยปลัดกระทรวง หรือมีทั้งรองปลัด กระทรวงและผู้ช่วยปลัดกระทรวง ให้รองปลัดกระทรวงหรือผู้ช่วยปลัดกระทรวง เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการรองจากปลัดกระทรวง
ให้รองปลัดกระทรวง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง และผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่อ อย่างอื่นในสำนักงานปลัดกระทรวง มีอำนาจหน้าที่ตามที่ปลัดกระทรวงกำหนดหรือมอบหมาย
มาตรา 22 สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการ ทางการเมือง มีเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และ รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวง และจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองคนหนึ่งหรือหลายคน เป็นผู้ช่วยสั่งหรือปฏิบัติราชการแทนเลขานุการรัฐมนตรีก็ได้
มาตรา 23 สำนักงานปลัดกระทรวงมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไป ของกระทรวง และราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัด กระทรวงโดยเฉพาะ รวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวง ให้เป็นไปตามนโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง
ในกรณีที่กระทรวงมีทบวงอยู่ในสังกัดและยังไม่สมควรจัดตั้งสำนักงาน ปลัดทบวงตามมาตรา 25 วรรคสาม จะให้สำนักงานปลัดกระทรวงทำหน้าที่สำนักงาน ปลัดทบวงด้วยก็ได้
มาตรา 24 การจัดระเบียบราชการในทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ให้อนุโลมตามการจัดระเบียบราชการของกระทรวงซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 18 ถึงมาตรา 23

หมวด 3
การจัดระเบียบราชการในทบวงซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง
_____________

มาตรา 25 ราชการส่วนใดซึ่งโดยสภาพและปริมาณของงานไม่เหมาะสมที่จะ จัดตั้งเป็นกระทรวงหรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวงจะจัดตั้งเป็นทบวงสังกัดสำนักนายก รัฐมนตรีหรือกระทรวง เพื่อให้มีรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบ ในการปฏิบัติราชการของทบวงก็ได้ และให้จัดระเบียบราชการในทบวงดังนี้ (1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี (2) สำนักงานปลัดทบวง (3) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น เว้นแต่บางทบวงซึ่งเห็นว่าไม่มี ความจำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกรมก็ได้ ให้ส่วนราชการตาม (2) และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นตาม (3) มีฐานะเป็น กรม ในกรณีที่สำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวงมีทบวงอยู่ในสังกัด และปริมาณ และคุณภาพของราชการในทบวงยังไม่สมควรจัดตั้งสำนักงานปลัดทบวง จะให้สำนักงาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือสำนักงานปลัดกระทรวงทำหน้าที่สำนักงานปลัดทบวงด้วยก็ได้

มาตรา 26 การจัดระเบียบราชการในทบวงหนึ่ง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ส่วนการจัดระเบียบราชการในทบวงมหาวิทยาลัย ให้เป็นไป ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ทบวงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม
มาตรา 27 ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 11 ทบวงหนึ่งมีรัฐมนตรีว่าการทบวง เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และกำหนดนโยบายของทบวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะ รัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของทบวง และจะให้มีรัฐมนตรี ช่วยว่าการทบวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้

ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง การสั่งหรือการปฏิบัติราชการของรัฐมนตรี ช่วยว่าการทบวง
ในกรณีที่เป็นทบวงสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง ให้รัฐมนตรีว่าการ ทบวงปฏิบัติราชการภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวง แล้วแต่กรณี
มาตรา 28 ทบวง นอกจากมีรัฐมนตรีว่าการทบวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง ให้มีปลัดทบวงคนหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) รับผิดชอบควบคุมราชการประจำในทบวง กำหนดแนวทางและแผนการ ปฏิบัติราชการของทบวง และลำดับความสำคัญของแผนการปฏิบัติราชการประจำปีของส่วน ราชการในทบวงให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐมนตรีกำหนด รวมทั้งกำกับ เร่งรัด ติดตามและประเมิน ผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในทบวง
(2) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในทบวงรองจากรัฐมนตรี
(3) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานปลัดทบวงและรับผิดชอบในการ ปฏิบัติราชการของสำนักงานปลัดทบวง
ในการปฏิบัติราชการของปลัดทบวงตามวรรคหนึ่ง ให้มีรองปลัดทบวงเป็นผู้ช่วย สั่งและปฏิบัติราชการ และจะให้มีผู้ช่วยปลัดทบวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้
ในกรณีที่มีรองปลัดทบวงหรือผู้ช่วยปลัดทบวง หรือมีทั้งรองปลัดทบวงและผู้ช่วย ปลัดทบวง ให้รองปลัดทบวงหรือผู้ช่วยปลัดทบวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบ ในการปฏิบัติราชการรองจากปลัดทบวง
ให้รองปลัดทบวง ผู้ช่วยปลัดทบวง และผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ในสำนักงานปลัดทบวง มีอำนาจหน้าที่ตามที่ปลัดทบวงกำหนดหรือมอบหมาย
ในกรณีที่ปลัดทบวงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของ คณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กล่าวถึงอำนาจของปลัดทบวงไว้ ให้ปลัดทบวงมีอำนาจดังเช่น ปลัดกระทรวง
ในกรณีที่ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือสำนักงานปลัดกระทรวง ทำหน้าที่สำนักงานปลัดทบวง ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงทำหน้าที่ปลัดทบวง

มาตรา 29 สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการ ทางการเมือง มีเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และ รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการทบวง และจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ช่วย สั่งหรือปฏิบัติราชการแทนเลขานุการรัฐมนตรีก็ได้
มาตรา 30 สำนักงานปลัดทบวงมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไป ของทบวง และราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัด ทบวงโดยเฉพาะ รวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในทบวงให้เป็นไป ตามนโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของทบวง
หมวด 4
การจัดระเบียบราชการในกรม
__________

มาตรา 31 กรมซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง อาจแบ่งส่วนราชการดังนี้
(1) สำนักงานเลขานุการกรม
(2) กองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกอง เว้นแต่บางกรมเห็นว่าไม่มีความ จำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกองก็ได้
กรมใดมีความจำเป็น จะแบ่งส่วนราชการโดยให้มีส่วนราชการอื่นนอกจาก (1) หรือ (2) ก็ได้
สำหรับกรมตำรวจและสำนักงานอัยการสูงสุด จะแบ่งส่วนราชการให้เหมาะสม กับราชการของตำรวจหรือราชการของอัยการก็ได้
มาตรา 32 กรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวงหรือ ทบวงตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรม หรือตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจ หน้าที่ของกรมนั้น

กรมมีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ของกรมให้เป็นไปตามนโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง และในกรณี ที่มีกฎหมายอื่นกำหนดอำนาจหน้าที่ของอธิบดีไว้เป็นการเฉพาะ การใช้อำนาจและการปฏิบัติ หน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวให้คำนึงถึงนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ และแนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงด้วย
ในกรมหนึ่งจะให้มีรองอธิบดีหรือผู้ช่วยอธิบดี หรือมีทั้งรองอธิบดีและผู้ช่วย อธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการรองจากอธิบดีและช่วยอธิบดีปฏิบัติราชการก็ได้
รองอธิบดี ผู้ช่วยอธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในกรมมีอำนาจ หน้าที่ตามที่อธิบดีกำหนดหรือมอบหมาย
มาตรา 33 สำนักงานเลขานุการกรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของ กรม และราชการที่มิได้แยกให้เป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะมีเลขานุการกรม เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเลขานุการกรม
ส่วนราชการตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง (2) และส่วนราชการตามมาตรา 31 วรรคสอง ให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ๆ โดยให้มี ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่เทียบเท่าผู้อำนวยการ กอง หรือหัวหน้ากอง หรือหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา 31 วรรคสอง เป็นผู้บังคับบัญชา ข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ
มาตรา 34 กระทรวง ทบวง กรมใดมีเหตุพิเศษ จะตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งท้องที่ ออกเป็นเขตเพื่อให้มีหัวหน้าส่วนราชการประจำเขตแล้วแต่จะเรียกชื่อเพื่อปฏิบัติงานทางวิชาการ ก็ได้
หัวหน้าส่วนราชการประจำเขตมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจาก กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติงานทางวิชาการ และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการประจำสำนักงาน เขตซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมนั้น
ความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การแบ่งเขตและการปกครองบังคับบัญชาของ ตำรวจและอัยการซึ่งได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 35 กระทรวง ทบวง หรือกรมใดโดยสภาพและปริมาณของงานสมควร มีผู้ตรวจราชการของกระทรวง ทบวง หรือกรมนั้น ก็ให้กระทำได้ ผู้ตรวจราชการของกระทรวง ทบวง หรือกรม มีอำนาจหน้าที่ตรวจ และแนะนำ การปฏิบัติราชการอันเกี่ยวกับกระทรวง ทบวง หรือกรมนั้นให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หรือ ข้อบังคับของกระทรวง ทบวง หรือกรม หรือมติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายก รัฐมนตรี
มาตรา 36 ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรมจะมีเลขาธิการ ผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งเทียบเท่าปลัดกระทรวงหรืออธิบดีเป็นผู้บังคับ บัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการนั้นให้เป็นไปตามที่ กฎหมายกำหนด และจะให้มีรองเลขาธิการ รองผู้อำนวยการหรือตำแหน่งรองของตำแหน่ง ที่เรียกชื่ออย่างอื่น หรือผู้ช่วยเลขาธิการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการหรือตำแหน่งผู้ช่วยของตำแหน่ง ที่เรียกชื่ออย่างอื่น หรือมีทั้งรองเลขาธิการ และผู้ช่วยเลขาธิการหรือทั้งรองผู้อำนวยการและ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ หรือทั้งตำแหน่งรองและตำแหน่งผู้ช่วยของตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และช่วยปฏิบัติราชการแทนก็ได้
มาตรา 37 ให้นำความในมาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 และ มาตรา 35 มาใช้บังคับแก่ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรมโดยอนุโลม
หมวด 5
การปฏิบัติราชการแทน
________

มาตรา 38 อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือ การดำเนินการอื่น ที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการ แทนได้ ดังต่อไปนี้

(1) นายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี
(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวง อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
(3) รัฐมนตรีว่าการทบวงอาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง ปลัดทบวง อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
(4) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
(5) ปลัดกระทรวงอาจมอบอำนาจให้รองปลัดกระทรวง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
(6) ปลัดทบวงอาจมอบอำนาจให้รองปลัดทบวง ผู้ช่วยปลัดทบวง อธิบดี หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
(7) อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอาจมอบอำนาจให้รองอธิบดี ผู้ช่วยอธิบดี ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา 31 วรรคสอง หรือผู้ดำรงตำแหน่ง เทียบเท่า หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
(8) ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา 31 วรรคสอง หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า อาจมอบอำนาจให้ข้าราชการในกองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบ กองหรือส่วนราชการตามมาตรา 31 วรรคสอง ได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
(9) ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่า ราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้า ประจำกิ่งอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ
(10) นายอำเภออาจมอบอำนาจให้ปลัดอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำ อำเภอ
(11) ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภออาจมอบอำนาจให้ปลัดอำเภอ หรือ หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ
(12) หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดอาจมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการประจำ อำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำกิ่งอำเภอ

(13) ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจาก (1) ถึง (12) อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นได้ตาม ระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
การมอบอำนาจของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรือปลัดทบวง ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง หรือ สำนักงานปลัดทบวง หรือการมอบอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการซึ่งขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 15 ให้นำความใน (7) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การมอบอำนาจตามมาตรานี้ให้ทำเป็นหนังสือ
คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดให้มีการมอบอำนาจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการมอบอำนาจให้ผู้มอบอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจตาม วรรคหนึ่งต้องปฏิบัติก็ได้
มาตรา 39 เมื่อมีการมอบอำนาจตามมาตรา 38 โดยชอบแล้ว ผู้รับมอบอำนาจ มีหน้าที่ต้องรับมอบอำนาจนั้น และจะมอบอำนาจนั้นให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นต่อไปไม่ได้ เว้นแต่ กรณีการมอบอำนาจให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 38 (2) (3) (4) (5) (6) หรือ (7) ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบอำนาจนั้นต่อไปตามมาตรา 38 (9) ก็ได้
ในการมอบอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคหนึ่งให้แก่รองผู้ว่าราชการ จังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้ผู้มอบอำนาจชั้นต้นทราบ ส่วนการมอบอำนาจให้แก่บุคคลอื่น นอกจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้มอบอำนาจชั้นต้นแล้ว
มาตรา 40 ในการมอบอำนาจตามมาตรา 38 (4) ถึง (11) ให้ผู้มอบอำนาจพิจารณา ถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ความรวดเร็วในการปฏิบัติราชการ การกระจายความ รับผิดชอบตามสภาพของตำแหน่งของผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้ รับมอบอำนาจตามวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจดังกล่าว
เมื่อได้มอบอำนาจแล้ว ผู้มอบอำนาจมีหน้าที่กำกับติดตามผลการปฏิบัติราชการของ ผู้รับมอบอำนาจ และให้มีอำนาจแนะนำและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจได้

หมวด 6
การรักษาราชการแทน
_______

มาตรา 41 ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคนให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายก รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษา ราชการแทน

มาตรา 42 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือมีแต่ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคนใด คนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง หรือมี แต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษา ราชการแทน
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีว่าการทบวงด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 43 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจ ปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีหลายคน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมอบหมายให้ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีคนใด คนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง แต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่เลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวงด้วย โดยอนุโลม

มาตรา 44 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติ ราชการได้ ให้รองปลัดกระทรวงเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองปลัดกระทรวงหลายคน ให้นายก รัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงคนใด คนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติ ราชการได้ ให้นายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่งตั้ง ข้าราชการในกระทรวงซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่าเป็นผู้รักษาราชการแทน ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ปลัดกระทรวงจะแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือ เทียบเท่าเป็นผู้รักษาราชการแทนก็ได้
มาตรา 45 ให้นำความในมาตรา 44 มาใช้บังคับแก่กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ปลัดทบวงหรือรองปลัดทบวงตามมาตรา 24 หรือมาตรา 28 ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 46 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองอธิบดีหลายคน ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งรองอธิบดี คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติ ราชการได้ ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดี หรือ ข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน แต่ถ้านายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเห็นสมควรเพื่อ ความเหมาะสมแก่การรับผิดชอบการปฏิบัติราชการในกรมนั้น นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีหรือเทียบเท่า เป็น ผู้รักษาราชการแทนก็ได้
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ อธิบดี จะแต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดี หรือข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่ง หัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้รักษาราชการแทนก็ได้
ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งเทียบเท่า ปลัดกระทรวงหรืออธิบดี ในส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรมด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 47 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง หรือหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา 33 วรรคสอง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้อธิบดี แต่งตั้งข้าราชการในกรมคนหนึ่ง ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า เป็นผู้รักษา ราชการแทน ให้นำความในมาตรานี้มาใช้บังคับแก่ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะ เป็นกรมด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 48 ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจหน้าที่ เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดหรือผู้รักษาราชการแทนผู้ดำรงตำแหน่งนั้นมอบหมาย หรือมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทน ให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจหน้าที่ เช่นเดียวกับผู้ซึ่งมอบหมายหรือมอบอำนาจ
ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจ หน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เป็นกรรมการหรือ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในการรักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนด้วย แล้วแต่กรณี
มาตรา 49 การเป็นผู้รักษาราชการแทนตามพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบ กระเทือนอำนาจนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ปลัดกระทรวง หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ที่จะแต่งตั้งข้าราชการอื่นเป็นผู้รักษาราชการแทนตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ดำรงตำแหน่ง รองหรือผู้ช่วยพ้นจากความเป็นผู้รักษาราชการแทนนับแต่เวลาที่ผู้ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง เข้ารับหน้าที่
มาตรา 50 ความในหมวดนี้มิให้ใช้บังคับแก่ราชการในกระทรวงที่เกี่ยวกับ ทหาร

ส่วนที่ 2
การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
__________

มาตรา 51 ให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ดังนี้ (1) จังหวัด (2) อำเภอ

หมวด 1
จังหวัด
____

มาตรา 52 ให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอตั้งขึ้นเป็นจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล
การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ
มาตรา 53 ในจังหวัดหนึ่งให้มีคณะกรมการจังหวัดทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของ ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น และให้ความเห็นชอบในการจัดทำ แผนพัฒนาจังหวัด กับปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีกำหนด
คณะกรมการจังหวัดประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานรองผู้ว่าราชการ จังหวัดหนึ่งคนตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย ปลัดจังหวัด อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ ทำการอัยการจังหวัด รองผู้บังคับการตำรวจซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้กำกับการ ตำรวจภูธรจังหวัด แล้วแต่กรณี และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดจากกระทรวงและทบวง ต่าง ๆ เว้นแต่กระทรวงมหาดไทยซึ่งประจำอยู่ในจังหวัดกระทรวงหรือทบวงละหนึ่งคนเป็น กรมการจังหวัด และหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นกรมการจังหวัดและเลขานุการ
ถ้ากระทรวงหรือทบวงมีหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งกรมต่าง ๆ ใน กระทรวงหรือทบวงนั้นส่งมาประจำอยู่ในจังหวัดมากกว่าหนึ่งคนให้ปลัดกระทรวงหรือปลัด ทบวงกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดหนึ่งคนเป็นผู้แทนของกระทรวงหรือทบวง ในคณะกรมการจังหวัด

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรจะแต่งตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนภูมิภาคคนหนึ่งหรือหลายคน เป็นกรมการจังหวัดเพิ่มขึ้นเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งก็ได้
มาตรา 54 ในจังหวัดหนึ่ง ให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่งเป็นผู้รับนโยบายและ คำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติการ ให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการจังหวัดและอำเภอ และจะให้มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้
รองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ ฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการรองจากผู้ว่าราชการจังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดสังกัด กระทรวงมหาดไทย
มาตรา 55 ในจังหวัดหนึ่ง นอกจากจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าปกครอง บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของจังหวัดดังกล่าวในมาตรา 54 ให้มี ปลัดจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ส่งมาประจำ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัด และมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหาร ส่วนภูมิภาคซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมนั้น ในจังหวัดนั้น
มาตรา 56 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือมีแต่ไม่อาจ ปฏิบัติราชการได้ ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรอง ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รักษา ราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดจังหวัดเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ปลัดจังหวัดหลายคน ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัดคนใดคนหนึ่ง แล้วแต่กรณี เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีทั้งผู้ดำรงตำแหน่ง

รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดจังหวัด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการ ได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งมีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็น ผู้รักษาราชการแทน
มาตรา 57 ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้ (1) บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ (2) บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มอบหมายหรือ ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในฐานะหัวหน้ารัฐบาล (3) บริหารราชการตามคำแนะนำและคำชี้แจงของผู้ตรวจราชการกระทรวงในเมื่อ ไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี (4) กำกับดูแลการปฏิบัติราชการอันมิใช่ราชการส่วนภูมิภาคของข้าราชการ ซึ่งประจำอยู่ในจังหวัดนั้น ยกเว้นข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและข้าราชการครู ให้ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม หรือมติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรีหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ของ ข้าราชการในจังหวัดที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรีไว้ชั่วคราวแล้วรายงานกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง (5) ประสานงานและร่วมมือกับข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการ ฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และ ข้าราชการครู ผู้ตรวจราชการและหัวหน้าส่วนราชการในระดับเขตหรือภาค ในการพัฒนาจังหวัด หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ (6) เสนองบประมาณต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้องตามโครงการหรือแผนพัฒนาจังหวัด และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ (7) ควบคุมดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดตามกฎหมาย (8) กำกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ในการนี้ให้มีอำนาจทำรายงานหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การของ รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ


(9) บรรจุ แต่งตั้ง ให้บำเหน็จ และลงโทษข้าราชการในส่วนภูมิภาคในจังหวัด ตามกฎหมาย และตามที่ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง หรืออธิบดีมอบหมาย
มาตรา 58 การยกเว้น จำกัด หรือตัดทอน อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการบริหารราชการในจังหวัด หรือให้ข้าราชการของส่วนราชการใดมีอำนาจหน้าที่ในการบริหาร ราชการส่วนภูมิภาคเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดจะกระทำได้โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ
มาตรา 59 ให้นำความในมาตรา 48 และมาตรา 49 มาใช้บังคับแก่ผู้รักษาราชการ แทนและผู้ปฏิบัติราชการแทนตามหมวดนี้
มาตรา 60 ให้แบ่งส่วนราชการของจังหวัดดังนี้
(1) สำนักงานจังหวัด มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปและการวางแผนพัฒนาจังหวัด ของจังหวัดนั้น มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการ ปฏิบัติราชการของสำนักงานจังหวัด
(2) ส่วนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ได้ตั้งขึ้น มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของ กระทรวง ทบวง กรมนั้น ๆ มีหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชา รับผิดชอบ
หมวด 2
อำเภอ
______

มาตรา 61 ในจังหวัดหนึ่งให้มีหน่วยราชการบริหารรองจากจังหวัดเรียกว่าอำเภอ
การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนเขตอำเภอ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 62 ในอำเภอหนึ่ง มีนายอำเภอคนหนึ่งเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชา บรรดาข้าราชการในอำเภอ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของอำเภอ
นายอำเภอสังกัดกระทรวงมหาดไทย

บรรดาอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมการอำเภอหรือนายอำเภอ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้กรมการอำเภอและนายอำเภอมีอยู่ ให้โอนไปเป็นอำนาจและหน้าที่ของ นายอำเภอ
มาตรา 63 ในอำเภอหนึ่ง นอกจากจะมีนายอำเภอเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาและ รับผิดชอบดังกล่าวในมาตรา 62 ให้มีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอซึ่งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ส่งมาประจำให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ และมีอำนาจบังคับบัญชา ข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมนั้นในอำเภอนั้น
มาตรา 64 ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง ปลัดอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นผู้รักษาราชการแทน
ถ้ามีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ แต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้นายอำเภอแต่งตั้ง ปลัดอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นผู้รักษาราชการแทน
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมิได้แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนไว้ ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ปลัดอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอผู้มีอาวุโสตาม ระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน
มาตรา 65 นายอำเภอมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
(1) บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถ้ากฎหมาย ใดมิได้บัญญัติว่าการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ ให้เป็นหน้าที่ของ นายอำเภอที่จะต้องรักษาการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นด้วย
(2) บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มอบหมายหรือ ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในฐานะหัวหน้ารัฐบาล
(3) บริหารราชการตามคำแนะนำและคำชี้แจงของผู้ว่าราชการจังหวัดและ ผู้มีหน้าที่ตรวจการอื่นซึ่งคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม และผู้ว่าราชการ จังหวัดมอบหมาย ในเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี
(4) ควบคุมดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในอำเภอตามกฎหมาย

มาตรา 66 ให้แบ่งส่วนราชการของอำเภอดังนี้ (1) สำนักงานอำเภอ มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของอำเภอนั้น ๆ มีนายอำเภอ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบ (2) ส่วนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ได้ตั้งขึ้นในอำเภอนั้น มีหน้าที่เกี่ยวกับ ราชการของกระทรวง ทบวง กรมนั้น ๆ มีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอนั้น ๆ เป็นผู้ปกครอง บังคับบัญชารับผิดชอบ
มาตรา 67 ให้นำความในมาตรา 48 และมาตรา 49 มาใช้บังคับแก่ผู้รักษาราชการ แทนและผู้ปฏิบัติราชการแทนตามหมวดนี้
มาตรา 68 การจัดการปกครองอำเภอ นอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่
ส่วนที่ 3
การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
_________

มาตรา 69 ท้องถิ่นใดที่เห็นสมควรจัดให้ราษฎรมีส่วนในการปกครองท้องถิ่น ให้จัดระเบียบการปกครองเป็นราชการส่วนท้องถิ่น
มาตรามาตรา 70 ให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ดังนี้
(1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด
(2) เทศบาล
(3) สุขาภิบาล
(4) ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด
มาตรา71 การจัดระเบียบการปกครององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย การนั้น

บทเฉพาะกาล
_______

มาตรา 72 คำว่า "ทบวงการเมือง" ตามกฎหมายอื่นที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราช บัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้หมายความถึงกระทรวง ทบวง กรม ตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี

มาตรา 73 พระราชกฤษฎีกา และประกาศของคณะปฏิวัติเกี่ยวกับการจัด ระเบียบราชการในสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงหรือทบวง กรม และ ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากรมหรือมีฐานะเป็นกรมที่ได้ตราหรือประกาศ โดยอาศัยอำนาจกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราช บัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมี พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบราชการตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแทน
มาตรา 74 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี และกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเทียบเท่ากรมหรือมีฐานะเป็นกรมใดยังมิได้ ระบุอำนาจหน้าที่ไว้ตามมาตรา 8 วรรคสี่ ให้ดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายในสองปีนับแต่วันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 75 บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งใดอ้างถึง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 หรืออ้างถึงบทบัญญัติแห่ง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่ง กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นอ้างถึงพระราชบัญญัตินี้ หรือบทบัญญัติแห่งพระราช บัญญัตินี้ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน แล้วแต่กรณี
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี


______________________________
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการจำเป็นต้องกำหนด ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ ให้ชัดเจนเพื่อมิให้มีการปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกันระหว่าง ส่วนราชการต่าง ๆ และเพื่อให้การบริหารงานในระดับกระทรวงมีเอกภาพสามารถดำเนินการ ให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐมนตรีกำหนดได้และสมควรเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการมอบอำนาจ ให้ปฏิบัติราชการแทนให้ครบถ้วนชัดเจนเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติราชการ และกำหนด อำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของข้าราชการ ซึ่งปฏิบัติราชการในเขตจังหวัดให้เหมาะสมขึ้น ประกอบกับประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการบริหารราชการแผ่นดินได้ประกาศ ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว สมควรแก้ไขปรับปรุงเป็นพระราชบัญญัติเสียในคราวเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
______________________________
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติให้จัดตั้งสำนักงาน คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เป็นส่วนราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีเลขาธิการ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการ ปฏิบัติราชการ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในการนี้สมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15 แห่งพระราช บัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็น ต้องตราพระราชบัญญัตินี้ [รก.2535/21/6/14 มีนาคม 2535]

______________________________
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2536
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนด ให้เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็น ผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และโดยที่


พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งได้ใช้บังคับแล้วบัญญัติ ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นส่วนราชการสังกัดสำนักนายก รัฐมนตรี มีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการใน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ขึ้นตรง ต่อนายกรัฐมนตรี ในการนี้ต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ แผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เพื่อกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการทั้งสองเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบ ในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
[รก.2536/127/1พ./6 กันยายน 2536]
______________________________
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543

มาตรา 5 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการภายในส่วนราชการตามมาตรา 8 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ พระราชบัญญัตินี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้คงใช้บังคับได้ต่อไป จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการตามมาตรา 8 ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
______________________________
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย มาตรา 230 ได้บัญญัติให้การรวมหรือโอนกระทรวง ทบวง กรม ที่ไม่มีการ กำหนดตำแหน่งหรืออัตราของข้าราชการหรือลูกจ้างเพิ่มขึ้นหรือการยุบเลิกส่วนราชการดังกล่าว สามารถทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น สมควรกำหนดลักษณะของกรณีที่สามารถ ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและวิธีการดำเนินการของแต่ละกรณี และรูปแบบของพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวรวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีและ ส่วนราชการระดับกรม ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงจำเป็น ต้องตราพระราชบัญญัตินี้



ปัญหาการใช้กฎหมาย ความจำเป็นที่จะต้องรู้และปฏิบัติตนตามกฎหมาย



กฎหมายอาจจะแบ่งออกได้เป็นหลาย ๆ ข้อ ทั้งสามารถนำเอากฎหมายมาแยกแยะ
ประโยชน์ดังนี้
1. สร้างความเป็นธรรม หรือความยุติธรรมให้แก่สังคม เพราะกฎหมายเป็นหลักกติกาที่ทุกคนจะ
ต้องปฏิบัติเสมอภาค เท่าเทียมกัน เมื่อการปฏิบัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเอาเปรียบคนอื่น ขาดความ
ยุติธรรม กฎหมายก็จะเข้ามาสร้างความยุติธรรม ยุติข้อพิพาทไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน ดังที่เรา
เรียกกันว่า ยุติธรรม สังคมก็จะได้รับความสุขจากผลของกฎหมายในด้านนี้
2. รู้จักสิทธิหน้าที่ของตัวเองที่จะปฏิบติต่อสังคม
3. ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เช่น การเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย การเป็น ทนายความ
อัยการ ศาล ทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยต่างฝ่ายต่างช่วยกันรักษาความถูกต้อง ความยุติธรรม
ให้เกิดขึ้นในสังคม
4. ประโยชน์ในทางการเมืองการปกครอง เพราะถ้าประชาชนรู้กฎหมายก็จะเป็นการเสริมสร้าง
ความมั่นคงของการปกครอง และการบริหารงานทางการเมือง การปกครอง ประโยชน์สุขก็จะตกอยู่กับ
ประชาชน
5. รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะกฎหมาย
ที่ดีนั้นจะต้องให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนเท่าเทียมกัน ประชาชนก็จะเกิดความผาสุก ปลอดภัยในชีวิต
และทรัพย์สิน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัว ต่อบุคคลอื่น และต่อประเทศชาติ